เติมเต็มชีวิตด้วยอะไรดี

110 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เติมให้เต็มด้วยอะไรดี

เติมเต็มชีวิตด้วยอะไรดี
ที่มา : พระไพศาล วิสาโล
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  อาจารย์วิษณุเป็นคุรุที่มีลูกศิษย์มาก แต่มีศิษย์เด่นสองคน คือ ชัย กับ จิต เป็นผู้ชายทั้งคู่ ชัยมักรู้สึกน้อยใจที่อาจารย์วิษณุโปรดปรานจิตมากกว่า          ส่วนอาจารย์รู้ว่าชัยคิดอย่างไรกับตน แต่ก็ไม่ได้พูดหรืออธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงโปรดปรานจิตมากกว่า

วันหนึ่งอาจารย์เรียกลูกศิษย์ทั้งสองคนมาหา แล้วพาไปดูห้องเปล่าสองห้องที่อยู่ไม่ไกลกันนัก มอบเงินให้ลูกศิษย์คนละหนึ่งรูปี แล้วมอบหมายว่า พวกเธอทำอย่างไรก็ได้เพื่อ            ให้ห้องของเธอเต็ม อาจารย์จะมาดูผลงานของเธอค่ำนี้  เมื่อได้รับมอบหมาย ชัยก็รีบไปที่ตลาดทันที แต่เงินหนึ่งรูปีนั้นมีค่าน้อยมาก ซื้ออะไรก็ได้นิดหน่อย เขาคิดอยู่สักพัก              ก็ไปหาคนเก็บขยะ  ขอซื้อขยะทั้งกองด้วยเงินหนึ่งรูปี คนเก็บขยะยินดียกขยะให้หมด  ชัยใช้เวลาหลายชั่วโมงในการขนขยะเข้าไปไว้ในห้องจนเต็ม  เขาภูมิใจที่ทำงานที่อาจารย์      มอบหมายเสร็จทันเวลา

ส่วนจิตเมื่อรับมอบหมายจากอาจารย์ เขาก็นั่งสมาธิพักใหญ่ จากนั้นก็ค่อย ๆ เดินไปที่ตลาด  ใช้เงินหนึ่งรูปีซื้อไม้ขีดไฟ ธูป และประทีบ พอใกล้ค่ำก็จุดธูปและประทีป  ไม่นานห้องก็สว่างและอบอวลด้วยกลิ่นหอม

เมื่อได้เวลาอาจารย์ก็มาตรวจผลงานของลูกศิษย์  โดยไปที่ห้องของชัยก่อน พอเปิดห้องอาจารย์ก็ผงะ เพราะว่ากลิ่นขยะเหม็นตลบอบอวลเต็มห้องเลย จากนั้นก็เดินไปยังห้องของจิต พอเปิดประตูมาก็เห็นแสงสว่างสีนวลเต็มห้อง และมีกลิ่นหอมอบอวล อาจารย์ยิ้มให้กับบรรยากาศที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า  ถึงตรงนี้ชัยก็รู้แล้วว่าอาจารย์ชอบห้องไหน และเข้าใจแล้วว่าทำไมอาจารย์จึงโปรดปรานจิตมากกว่าตน

ทั้งสองคนตอบโจทย์อาจารย์ได้ทั้งคู่ เพราะใช้เงินหนึ่งรูปีทำให้ห้องของตัวเองเต็ม แต่ห้องหนึ่งเต็มไปด้วยขยะ ส่วนอีกห้องเต็มไปด้วยกลิ่นหอมและแสงสว่าง
         
นิทานเรื่องนี้ไม่ได้ชี้เพียงแค่ว่าใครฉลาดกว่าใครเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นมุมมองหรือวิธีคิดของสองคนที่แตกต่างกัน ชัยคิดแต่ในเชิงวัตถุ มองในแง่ปริมาณ เมื่อได้รับโจทย์ว่าทำห้องให้เต็ม เขาก็คิดถึงแต่การหาวัตถุเยอะๆ มาเติมเต็มห้อง ซึ่งลงเอยด้วยการหาขยะมาใส่ ส่วนจิตไม่ได้คิดในเชิงวัตถุ เขามีความคิดที่ละเมียดละไมและประณีตกว่านั้น  เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพ  เพราะฉะนั้นจึงทำให้ห้องนั้นเต็มไปด้วยกลิ่นหอมและแสงสว่าง

ชัยและจิตเป็นตัวแทนของคนในโลกนี้ที่มีมุมมองต่างกัน ประเภทหนึ่งคิดในเชิงวัตถุ เวลามีปัญหา ก็นึกถึงวัตถุเป็นคำตอบ วัดความสำเร็จในแง่ปริมาณ อีกประเภทนึกถึงสิ่งที่มีคุณค่าในเชิงนามธรรม  วัดความสำเร็จในแง่คุณภาพ

นิทานเรื่องนี้เต็มไปด้วยอุปมาอุปไมย ห้องนั้นเปรียบเสมือนชีวิตของคนเรา เงินหนึ่งรูปี ซึ่งน้อยนิดนั้นหมายถึงเวลาในชีวิตของคนเราซึ่งสั้นมาก การทำให้ห้องเต็ม หมายถึงการเติม      เต็มชีวิตของเรา

เมื่อพูดถึงการเติมเต็ม คนจำนวนไม่น้อยจะนึกถึงการมีชีวิตที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ เงินทอง ทรัพย์สมบัติ ยิ่งมีเวลาน้อยเท่าไรยิ่งต้องรีบหามาให้เยอะๆ ชีวิตจะได้ไม่ว่างเปล่า แต่บางคนเห็นว่าชีวิตควรจะเติมเต็มด้วยสิ่งที่งดงาม มีคุณค่าและความหมาย นั่นคือ คุณธรรมและปัญญา  กลิ่นหอมเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี  ส่วนแสงสว่างเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา สองอย่างนี้ต่างหากที่ทำให้ชีวิตงดงามและมีคุณค่าอย่างแท้จริง

ชีวิตของคนเราจะเติมเต็มและอิ่มเอมได้ ก็เพราะอุดมด้วยคุณธรรมและปัญญา แต่คนจำนวนมากไม่สามารถมองเห็นอย่างนั้นได้ จึงเลือกที่จะไปหาวัตถุมาเติมเต็มชีวิต แต่สุดท้ายสิ่งของเหล่านั้นบางครั้งก็ไม่ต่างจากขยะ นอกจากไม่น่าชื่นชมแล้วยังเป็นภาระ

หลายคนหาเงินทองทรัพย์สมบัติมามากมาย แต่แล้วก็ทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้น ทุกข์เพราะมันกลายเป็นภาระที่ต้องดูแล  มีรถราคาแพงก็ต้องคอยดูแลรักษาให้ดี อาตมาเคยไปบ้านของเศรษฐีคนหนึ่ง มีรถแลมโบกินี เขาต้องทำโรงรถติดแอร์ บุด้วยกระจกทั้งสามด้าน เพื่อดูได้สะดวกว่ามีหนูเข้ามาไหม เพราะหนูอาจเข้าไปทำรังและกัดสายไฟ สายไฟและเครื่องเสียงราคาแพงมาก ต้องติดแอร์ปรับอากาศตลอด  ถ้าช่วงไหนไฟดับก็เป็นกังวล ไปจอดที่ไหนก็กลัวคนจะมาขโมย  หากรถมาชนท้าย สีถลอกก็เป็นทุกข์

บางคนโกรธจัดถึงกับไปลากคอคนที่ชนท้ายรถมาตบต่อย อย่างที่เป็นข่าว แล้วตัวเองก็เสียอนาคต เพราะคลิปที่คนอื่นถ่ายไว้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ จนกระทั่งตัวเองต้องถูกปฏิเสธงานมากมาย กลายเป็นว่าทุกข์เพราะรถ? เสียคนเพราะรถ นี่เป็นตัวอย่างว่าสมบัติที่เราพยายามหามาเติมเต็มชีวิตกลับกลายเป็นภาระ สร้างความทุกข์ และอาจจะทำให้ชีวิตย่ำแย่   เพราะว่าบางครั้งก็ยอมทำชั่ว  เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติมากๆ เช่น โกง หรือหักหลังผู้อื่น ขัดแข้งขัดขา สุดท้ายชีวิตก็มีมลทิน ด่างพร้อย เสียชื่อเสียง กิตติศัพท์แพร่กระจายไม่ต่าง      จากกลิ่นขยะ

นิทานเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงการให้คุณค่าและความสำคัญกับสิ่งที่เป็นนามธรรม คือคุณธรรมและปัญญา  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัตถุไม่มีคุณค่า วัตถุก็มีคุณค่า แต่ว่าควรเป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้เราสามารถเติมเต็มชีวิตได้ด้วยคุณธรรมและปัญญา คนเราจะมีจิตใจที่งดงามและปัญญาสว่างไสว ก็ต้องอาศัยวัตถุเป็นสิ่งเกื้อกูล แต่หากยกมันขึ้นเป็นนายเมื่อใด ชีวิตเราจะตกต่ำย่ำแย่ ชื่อเสียงเสียหายราวกับกลิ่นขยะก็เป็นได้
ที่มา : พระไพศาล วิสาโล
 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้